29 พฤษภาคม 2554

คำนำสู่บันทึก


          บันทึกเหล่านี้ข้าพเจ้าได้เขียนเก็บไว้เป็นระยะๆ  พอถึงจังหวะที่มีโอกาสจึงได้นำมาบอกเล่าหรือแสดงไว้  ส่วนจะได้เผยแพร่ออกไปสู่ใครบ้างนั้นก็แล้วแต่เหตุปัจจัย  แต่ก็ได้ตั้งเจตนาไว้ว่าจะบันทึกเพื่อให้เป็นประโยชน์สำหรับผู้ที่ได้อ่าน  โดยเนื้อหาที่บันทึกไว้ทั้งหมดเป็นแง่มุมจากความเห็นส่วนตัว  จึงขอบอกกล่าวไว้เบื้องต้นว่าไม่ได้ชวนให้เชื่อตาม  แต่มุ่งเน้นนำเสนอในรูปแบบที่ ชวนให้คิด หรือ ชวนให้สนใจ” 
            สำหรับ ฉันทะ ที่ผลักดันให้ทำการบันทึก และนำมาแสดงถ่ายทอดไว้  เบื้องต้นก็เกิดจากความคิดที่ว่า...
            ๑.  บันทึกนี้จะเป็นคำอธิบายที่แสดงต่อญาติมิตรรอบข้างหรือผู้คุ้นเคย ว่าเหตุใดข้าพเจ้าจึงได้ตัดสินใจหันหลังให้กับทางโลกอย่างฉับพลัน  โดยมีศรัทธาตั้งมั่นถึงขนาดที่ว่ายอมออกห่างจากบุคคลที่ผูกพัน  ยอมสละอาชีพการงานและสิ่งของวัตถุ  แล้วมุ่งมาให้ความสนใจกับการศึกษาธรรมะ  ออกบวชตามรอยของพระพุทธองค์และพระอริยสาวก
            ๒.  ประสบการณ์บนเส้นทางการศึกษาธรรมะส่วนตัวนี้  น่าจะเป็นประโยชน์ต่อเพื่อนผู้เป็น ปัญญาชนทางโลก แต่ไม่เคยคิดสนใจเรื่องพุทธศาสนาเลย (ทั้งที่มีสาเหตุจาก ได้ยินแต่ไม่สนใจ หรือไม่เคยได้ยินจึงไม่สนใจ) โดยอาจเห็นว่าพุทธศาสนาเป็นเพียงประเพณี หรือเห็นเป็นแค่เรื่องศีลธรรม หรือรู้จักเพียงว่าทำบุญให้ทานแล้วสบายใจขึ้น  หรือบางคนอาจจะสนใจอยู่แต่ก็ยังโฟกัสไม่ชัดเจนในขอบเขตที่จะศึกษา เพราะมีคำสอนเผยแพร่อยู่มากมายจนเลือกไม่ถูก  จนดูเหมือนทำได้เพียงแค่ศึกษาไปเรื่อยๆ โดยที่ขาดจุดหมายอันชัดเจน มีอาการคล้ายติดหล่ม จะถอยก็ไม่อยากถอย จะก้าวไปข้างหน้าก็ไปไม่ถูก  หรือบางคนก็อาจคิดว่าตัวเองเลือกทางได้แล้ว แต่แน่ใจหรือว่าทางนั้นใช่จริงๆ จึงเป็นที่จะต้องทบทวนให้รอบคอบด้วยปัญญา ไม่ควรใช้เพียงแค่ศรัทธานำทาง 
            ๓.  บันทึกนี้น่าจะเป็นเหตุปัจจัยบางส่วน ที่อาจจะช่วยกระตุ้นให้บางคนได้ ฉุกคิด กับการใช้ชีวิตแห่งความเป็นมนุษย์ซึ่งมีศักยภาพอยู่แล้ว  ให้เริ่มนำต้นทุนนี้มาพัฒนาต่อยอด เพื่อมุ่งไปในทางที่จะเกิดประโยชน์สูงสุด ทั้งในด้านการ ลด ละ ความเห็นแก่ตัว คือพยายามเป็นอยู่อย่างผู้มีศีลธรรม เอื้อเฟื้อต่อผู้อื่น  และในด้านการ เลิกเห็นแก่ตัว คือหมดความเข้าใจผิด หลงยึดมั่นถือมั่นว่าเป็นตัวฉันและของฉัน  จนสามารถจะปรับความเห็นในการใช้ชีวิตเพื่อมุ่งไปในทางที่จะ พ้นภัย เหนือการเวียนว่ายเกิด-ตายได้อย่างแท้จริง
            ๔.  ประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นกับตัวข้าพเจ้าเอง ซึ่งก็ยังเป็นเพียงนักศึกษาอยู่ คือ ได้เจริญปัญญา ขบคิด ตรึกตรอง ประมวลความคิดความอ่าน ทบทวน และทวนสอบตนเองอยู่เนืองๆ  เพราะมันช่วยสะท้อนให้เห็นว่า ถ้าหากความคิดเรากำลังเน้นไปทางไหนก็มักจะเขียนไปทางประเด็นนั้น หรือมีเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแล้วทำให้ได้คิด ได้ความรู้ในบางแง่มุมใหม่ๆ ซึ่งคนทั่วไปไม่ได้มอง ก็จะนำมาบันทึกไว้  แต่ทั้งหมดนี้ก็เป็นฐานในการมุ่งไปให้ถึงเป้าหมายหลักคือ การศึกษาให้เข้าใจธรรมะในระดับที่ สูงกว่าขั้นศีลธรรม

            ทังนี้ทั้งนั้น โอกาสในการเผยแพร่บันทึกของข้าพเจ้าก็คงจะเป็นไปอย่างจำกัดด้วยเหตุปัจจัยสำคัญ ๒ ประการ  ประการที่ ๑ คือ อาจจะสามารถปรับปรุงข้อมูลบันทึกนี้ให้ทันสมัยได้ถึงเพียงแค่ปลายปี พ.ศ.๒๕๕๕ เพราะสัญญาณการเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตที่ผู้มีจิตศรัทธาได้ปวารณาถวายไว้จะสิ้นสุดลง  และประการที่ ๒ คือ ปฏิปทาโดยส่วนตัวที่ตั้งเจตนาไว้เองว่าจะอยู่รับใช้ครูบาอาจารย์และทำงานเผยแพร่ธรรมะในระยะที่หนึ่งนี้ไปจนพ้นการถือนิสัย ๕ พรรษาแรก (พ.ศ.๒๕๕๗)  หลังจากนั้นตั้งใจไว้ว่าจะหาโอกาสปลีกไปวิเวก เน้นไปที่การทำความเพียรเพื่อศึกษาตัวเอง แบบเป็นการส่วนตัว เพื่อพัฒนาให้สามารถเข้าใจเรื่องอัตตาและอนัตตาในระดับที่สูงขึ้น  ส่วนการบันทึกเรื่องราวเพื่อเผยแพร่ในกาลต่อๆ ไปนั้น ก็คงเป็นจะให้ไปตามฉันทะและตามจังหวะโอกาส  อย่างไรก็ตาม นั่นก็เป็นเรื่องในอนาคต ยังไม่อาจกำหนดให้แน่นอนตายตัวได้ แล้วแต่ เหตุปัจจัย” ในกาลนั้น     
            นับเป็นเวลาเกือบ ๕ ปี ที่ฆราวาสผู้หนึ่ง เริ่มสนใจศึกษาธรรมะจากตำรา ฟังเทศน์ และออกแสวงหาครูบาอาจารย์ จนถึงวันที่ตัดสินใจก้าวเดินไปจากทางโลกด้วยความรู้สึกเพียงแค่ว่า มันถึงเวลาแล้ว  ข้าพเจ้าก็ไม่อาจสรุปได้ว่าจะไปเรียนที่สำนักไหน และไม่รู้ว่าจะศึกษาธรรมะด้วยวิธีการอย่างไรจึงจะเข้าใจแก่นแท้แห่งพุทธศาสนา  แต่เมื่อได้รับการอบรมสั่งสอนแบบตัวต่อตัวจากอาจารย์เป็นเวลา ๒ ปีเต็ม ควบคู่ไปกับการศึกษาสังเกตด้วยตนเอง ทุกอย่างก็ชัดเจน เหมือนเปิดประตูสู่โลกแห่งความรู้ที่เราไม่เคยเข้าใจ  บันทึกประสบการณ์ในช่วงสองปีนี้จึงน่าจะเป็นประโยชน์กับผู้อื่นได้บ้าง 
            ขอให้ผู้อ่านได้ศึกษาจากบันทึกทั้งหมดโดยใช้ สติปัญญาและวิจารณญาณโดยส่วนตัว เถิด เพราะความรู้ทั้งมวลไม่ว่าจะมาจากใครหรือแหล่งใดก็ตาม ล้วนเป็นเพียงการนำเสนอหรือชี้บอก  แต่สุดท้ายแล้ว..แต่ละคนก็ต้องเลือกทางเดินและก้าวไปด้วยตนเอง  จนกว่าจะถึงจุดที่ สัมผัสรสชาติ นั้นๆ ได้เองเฉพาะตัวอย่างเป็น ปัจจัตตัง

โกวิโท ภิกขุ
พ.ค.๒๕๕๔